ตัวแค่นี้ แต่รายได้หลักล้าน แนวทางใหม่ของเกษตรกร "ฟาร์มจิ้งหรีดเงินล้าน"
ด้วยความเบื่อหน่ายในงานประจำที่ทำทุกวันจนจำเจ ความเหนื่อยล้าในสังคมเมืองที่เร่งรีบวุ่นวาย ความไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปในแต่ละวัน หรือไม่ว่าอะไรก็ตาม ทำให้คุณนพวรรณ ดัสกร อดีตพนักงานสาวบริษัทเอกชนในจังหวัดชลบุรี ตัดสินใจกลับมาทำฟาร์มจิ้งหรีดยังบ้านเกิดที่จังหวัดนครสวรรค์ ในชื่อ “ฟาร์มจิ้งหรีดเงินล้าน” แม้จะไม่มีพื้นฐานทั้งด้านการเลี้ยงและการตลาดจิ้งหรีดมาก่อน แต่ด้วยความมุ่งมั่น ทำอะไรทำจริงและรู้จักพลิกแพลง ส่งผลให้การเลี้ยงประสบความสำเร็จ และตลาดก็ไปได้สวยชนิดที่ผลิตเท่าไรก็ไม่พอจำหน่ายเลยทีเดียว
“ขณะที่ยังเป็นพนักงานบริษัทอยู่ที่จังหวัดชลบุรีเมื่อประมาณ2ปีก่อน พอดีช่วงนั้นคุณพ่อได้พันธุ์จิ้งหรีดมาทดลองเลี้ยง ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสม ระหว่างจิ้งหรีดดำกับจิ้งหรีดทองแดง จุดเด่น คือ มีความแข็งแรง เจริญเติบโตรวดเร็ว ตัวใหญ่และมีไข่เต็มท้อง เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งตนเองกลับมาดูก็เห็นว่ามีแนวโน้มที่ดี สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ไม่ยาก พอคุณพ่อเริ่มเลี้ยงได้สักระยะตนเองจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างเต็มตัว”
คุณนพวรรณบอกว่าตอนที่ตัดสินใจกลับมาเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นเพียงแค่เห็นว่าการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพที่น่าสนใจ แต่ทว่าไม่ได้มีการศึกษาถึงวิธีการเลี้ยงและการทำตลาดมาก่อน (ซึ่งถือว่าเป็นข้อเสียของผู้ที่ทำธุรกิจ ไม่ควรนำไปเป็นแบบอย่าง) ทำให้ช่วงแรกกระท่อนกระแท่นอยู่พอสมควร แต่ก็ได้ลองผิดลองถูก พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลการเลี้ยงอยู่ตลอด จนในที่สุดก็มีความชำนาญ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงได้เหมาะสมทั้งกับความต้องการของจิ้งหรีดเอง และรูปแบบการจัดการของตนเอง และด้วยจิ้งหรีดเป็นแมลงที่เลี้ยงไม่ยากอยู่แล้ว ทำให้ฟาร์มมีผลผลิตจิ้งหรีดที่ดีและต่อเนื่องมาโดยตลอด
ปัจจุบันที่ฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดทั้งหมด 20 บ่อ เป็นบ่อที่ประกอบขึ้นเอง โดยใช้ยิปซัมแผนเรียบ (สมาร์ทบอร์ด) ทำเป็นทรงสี่เหลี่ยม บ่อหนึ่งมีขนาดความกว้าง 1.2 เมตร ยาว 2.4 เมตร จากการศึกษาพบว่า ยิปซัมแผ่นเรียบมีคุณสมบัติที่ดี ไม่อมความชื้น จึงไม่มีผลกระทบต่อจิ้งหรีดที่เลี้ยง ต่างจากบ่อปูนที่มีความชื้นสูงและมักเป็นที่อยู่อาศัยของไรแดง ซึ่งส่งผลเสียต่อจิ้งหรีดโดยตรง ส่วนบริเวณปากบ่อด้านใน ปิดด้วยเทปกาว ป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดไต่ออกจากบ่อ พร้อมทั้งมีตาข่ายไนล่อนปิดปากบ่อป้องกันศัตรูรบกวนด้วย
สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีดของทางฟาร์มจิ้งหรีดเงินล้านเริ่มจากการเตรียมบ่อ โดยเก็บล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย จากนั้นนำแผงไข่แบบกระดาษมาเรียนต่อกันให้เต็มบ่อ ซึ่งบ่อหนึ่งใช้แผงไข่ประมาณ 180-200 แผง ส่วนพันธุ์ที่นำมาเลี้ยง เป็นลักษณะของถาดไข่ที่ได้จากการเลี้ยงรุ่นก่อน โดยนำไข่มาฟักด้วยการเทถาดไข่ที่มีทั้งดินและไข่ของจิ้งหรีดใส่ในกระสอบปุ๋ย มัดปากกระสอบให้แน่นแล้วทิ้งไว้ในร่ม ระหว่างนี้ควรระมัดระวังไม่ให้มดขึ้น ประมาณ 1 สัปดาห์ ไข่จิ้งหรีดก็เริ่มฟักเป็นตัว นำดินและไข่ในกระสอบใส่กลับไปในขัน แล้วนำไปวางไว้ในบ่อเลี้ยง ซึ่ง 1 บ่อ ใช้พันธุ์จิ้งหรีดประมาณ 20-30 ตัว
นำพันธุ์จิ้งหรีดไปเลี้ยงในบ่อ ไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นตัวจิ้งหรีดออกมาจำนวนมาก ก็ให้น้ำและอาหารกับจิ้งหรีด โดยวางถาดอาหารให้ทั่วพื้นที่ เพื่อให้จิ้งหรีดได้รับอาหารอย่างทั่วถึง จะได้เติบโตสม่ำเสมอกันทั่วทั้งบ่อ อาหารที่ฟาร์มใช้เป็นอาหารไก่เนื้อระยะเล็ก โดยให้อาหารทุกวันในช่วงเช้า ส่วนช่วงเย็นอาจให้เพิ่มเติมเฉพาะในถาดที่อาหารหมดแล้ว พร้อมกับให้ผักและผลไม้ เช่น ฟักแฟง ต้นกล้วย มะละกอ ฟักทอง หรือผลไม้ที่หาได้ตามฤดู โดยวางให้ทั่วบ่อ ส่วนน้ำ ฟาร์มใช้เป็นถาดพลาสติก วางกระจายทั่วบ่อเช่นกัน ในถาดน้ำได้ใส่หินลงไปด้วย เพื่อให้จิ้งหรีดได้เกาะหินกินน้ำ และจิ้งหรีดตัวเล็ก ๆ ก็จะไม่ตกน้ำตาย
หลังจากเลี้ยงไปได้ 40-45 วัน จิ้งหรีดก็จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย ส่งเสียงให้ได้ยิน ก็จับขายได้ แต่ช่วงก่อนจับ ทางฟาร์มจะรองไข่จิ้งหรีดไว้ ด้วยการนำถาดไข่เข้าไปไว้ในบ่อ โดยใช้ขันนำพลาสติกใส่ดินสำหรับปลูกต้นไม้ (ที่มีจำหน่ายเป็นกระสอบ) นำไปวางไว้รอบ ๆ บ่อ บ่อหนึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้หลายถาดไข่ ทิ้งไว้ประมาณ 2 คืน จิ้งหรีดก็ลงไปไข่ ก็ทำให้ได้ไข่จิ้งหรีดสำหรับเลี้ยงรุ่นต่อไปหรือจำหน่ายให้ผู้สนใจได้ เมื่อรองไข่เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จับจำหน่ายได้
วิธีการการจับจำหน่ายของฟาร์ม เริ่มจากนำอุปกรณ์การเลี้ยงต่าง ๆ ทั้งถาดน้ำ ถาดอาหาร ถาดไข่ รวมถึงเศษผักและผลไม้ต่าง ๆ ออกจากบ่อจนหมด จากนั้นก็ใช้อุปกรณ์ ที่ทำจากถุงพลาสติก มีลวดเป็นโครงและด้ามจับ (คล้ายสวิง) ช้อนจับจิ้งหรีดภายในบ่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกาะตามขอบบ่อ จากนั้นใส่ในน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้บินหนี บ่อหนึ่งจะให้ผลผลิตจิ้งหรีดประมาณ 30 กิโลกรัมขึ้นไป ดังนั้นรอบการผลิตหนึ่งของฟาร์ม 20 บ่อ จะมีผลผลิตกว่า 600 กิโลกรัมเลยทีเดียว
หลังจากจับจิ้งหรีดจากบ่อมาแล้ว ทางฟาร์มก็นำมาล้งน้ำให้สะอาด จากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดพอให้ตัวเริ่มแข็ง ก็นำขึ้นมา เกลี่ยใส่ภาชนะผึ่งลมให้แห้ง แล้วบรรจุลงถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม เพื่อรอส่งจำหน่ายต่อไป ซึ่งปัจจุบันมีทั้งพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม สนนราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท รวมทั้งส่งจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งราคาดีกว่า อยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท
คุณนพวรรณ บอกว่า ส่วนเรื่องตลาด เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่โดยเฉพาะรายใหม่ ๆ กังวล ซึ่งตนเองก็เคยผ่านจุดนั้นมาเช่นกัน เพราะช่วงที่เริ่มเลี้ยงใหม่ ๆ จิ้งหรีดกำลังได้รับความนิยมจากเกษตรกรอย่างมาก เลี้ยงกันเกือบทุกหลังคาเรือน ทำให้จิ้งหรีดที่เลี้ยงจำหน่ายยาก ไม่มีผู้รับซื้อ ฟาร์มจึงต้องเริ่มหาตลาดเอง โดยเน้นตลาดในพื้นที่ ลงไปยังแหล่งชุมชนเพื่อสอบถามถึงความต้องการ ก็ทำให้จิ้งหรีดของฟาร์มมีช่องทางจำหน่าย
“ตลอด 2 ปี ที่เลี้ยงจิ้งหรีดมา ตลาดจิ้งหรีดเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ที่จิ้งหรีดมักไม่กินอาหาร หลบแต่ในรู ทำให้เจริญเติบโตช้า ช่วงนี้จิ้งหรีดถึงกับขาดตลาด ที่ฟาร์มผลิตได้เท่าไรก็ไม่พอกับความต้องการของตลาดที่มี ทำให้มีแผนที่จะขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นอีก แต่ทว่าปัจจุบันการเลี้ยงทั้งหมดใช้แรงงานในครอบครัวเท่านั้น ซึ่งก็ต้องศึกษาก่อนว่า หากขยายการเลี้ยงมากขึ้นแรงงานที่มีอยู่จะเพียงพอหรือไม่ หรือแรงงานที่มีอยู่ปัจจุบันจะสามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้สูงสุดเท่าไร”
สำหรับเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงจิ้งหรีดคุณนพวรรณแนะนำว่าสิ่งแรกควรศึกษาถึงตลาดจิ้งหรีด โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียง ในแหล่งชุมชนหรือตลาดสดต่าง ๆ ว่ามีความต้องการจิ้งหรีดหรือไม่ ถ้ามีตลาดรองรับแล้ว เรื่องการผลิตจิ้งหรีดไม่ใช่ปัญหาอย่างแน่นอน ดังนั้น เกษตรกรต้องรู้จักหาตลาดเอง เพราะผู้เลี้ยงจิ้งหรีดส่วนใหญ่จะไม่บอกกัน ขายให้เป็น อาจมีการแปรรูป หรือหาช่องทางใหม่ ๆ จำหน่าย แต่เชื่อว่า ทุกวันนี้จิ้งหรีดยังไม่เพียงพอกับความต้องการ เพียงแต่ผู้เลี้ยงต้องหาตลาดให้เจอเท่านั้นเอง
ที่มา:matichon.co.th/99