ปัจจุบันในเขตพื้นที่ที่มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งได้แก่ เขตอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และอีกในหลายพื้นที่ใกล้เคียง เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจะประสบปัญหาสภาพอากาศในแต่ละช่วงฤดูที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลทำให้ต้นมะพร้าวออกดอกติดผลน้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดส่งผลกระทบต่อระบบการส่งออกมะพร้าวไปยังต่างประเทศที่มูลค่าหลาย 1,000 ล้านบาท/ปี
รศ.วรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติมะพร้าวน้ำหอมที่ปลูกเพื่อการค้า เกษตรกรมักตัดจั่นผลผลิตมาจำหน่ายมีอายุนับตั้งแต่ติดผลแล้วโดยเฉลี่ยประมาณ 6-7 เดือน แต่มะพร้าวที่ส่งออกมักตัดจั่นที่มีอายุประมาณ 6.5-7 เดือน เป็นช่วงที่มะพร้าวออกดอกติดผลน้อย เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายนจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเข้าฤดูฝนในเขตภาคกลาง มีพายุหรือฝนฟ้าคะนองติดต่อกันหลายวัน ทำให้มะพร้าวที่ปลูกแบบร่องสวนในพื้นที่ภาคกลางจะมีจำนวนดอกน้อย เนื่องจากไนโตรเจนที่มาจากน้ำฝนส่งผลให้เจริญเติบโตทางลำต้นมากกว่าและน้ำฝนชะล้างช่อดอกทำให้เกสรขาดสารอาหารในการงอกเพื่อผสมกับดอกตัวเมียบนจั่นมะพร้าว
สำหรับเทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวน้ำหอมผลดกตลอดทั้งปี จะใช้เทคโนโลยีการผสมเกสรสด ด้วยการฉีดพ่นโดยจะนำเกสรตัวผู้ล้างน้ำเกลือและบดให้เมล็ดแตก ผสมกับน้ำ10ลิตร ให้ละอองเกสรลอยผสมกัน เทใส่ตะแกรงกรองน้ำใสถังฉีดพ่นที่มีสารละลายเกสรมะพร้าว (Pollen Germ’ Media) อัตราส่วนสารละลายเกสรมะพร้าว 1 ลิตร ต่อ น้ำ 9 ลิตร ทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที ก่อนนำไปพ่นช่อดอก
โดยวิธีการผสมจะเลือกช่อดอกเกสรตัวเมียจากต้นที่มีความสมบูรณ์ อายุประมาณ 2 ปี โดยจะเริ่มฉีดสารละลายล้างช่อดอก(Botton Cleansing Agent) อัตราส่วน สารละลายล้างช่อดอก 1 ลิตร ต่อ น้ำ 9 ลิตร เพื่อทำความสะอาดช่อดอกก่อน 1 ครั้ง ในช่วงเช้า ก่อน 11.30 น.
จากนั้นจะฉีดสารละลายเกสรมะพร้าวที่ผสมเกสรที่ช่อเกสรตัวเมียบนต้นมะพร้าวโดยเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือในช่วงเช้าก่อน 11.30 น. เพียงเท่านี้ มะพร้าวที่เคยติดผล 5-10 เปอร์เซ็นต์ จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบทำให้ต้นโทรม หรือ รสชาติของน้ำและเนื้อมะพร้าวเปลี่ยนไปจากเดิม
“เทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวน้ำหอมผลดกทั้งปี จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนมะพร้าวในหน้าแล้งได้ และช่วยให้มะพร้าวน้ำหอมมีผลผลิตจำนวนมากขึ้น ติดดอกและออกผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตที่ได้มาตรฐานสากล สามารถรองรับการส่งออกที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิ และมีรายได้เพิ่มขึ้น” รศ.วรภัทร กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ส่วนสารละลายทั้งสองชนิด ยังไม่มีการผลิตจำหน่ายในท้องตลาด แต่หากเกษตรกรท่านใดสนใจ สามารถสอบถามเข้าไปที่ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4488 (ในวันเวลาราชการ)
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ
ที่มา sanook.com