Friday, July 24, 2015

6 อันดับอาหารเช้า เมนูไหนเปี่ยมประโยชน์ที่สุด



ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์อายุรวัฒน์ (Ani-Aging) นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ฟันธงว่าแท้จริงแล้ว เมนูอาหารเช้ายอดฮิตอย่าง น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋, โจ๊กหมู, ข้าวเหนียว หมูปิ้ง, ต้มเลือดหมู, ขนมปัง ไข่ดาว และขนมครกนั้น แท้จริงแล้วมีประโยชน์เพียงใด เหมาะจะนำมาเป็นมื้อสำคัญยามรุ่งอรุณแค่ไหน

“การทานอาหารเช้าที่ดี คือ ให้กินอย่างราชา แต่จะต้องมีหลักนิดนึงคือ ถ้าเรากินอย่างราชาแต่หนักแป้งก็ไม่ดี เพราะมันจะทำให้เราหิวเร็ว ดังนั้นกฎข้อแรกของการกินอาหารเช้าคือ พยายามทานแป้งกับน้ำตาลให้น้อยที่สุด เพราะแป้งและน้ำตาลดูดซึมได้เร็ว เมื่อไหร่ที่ดูดซึมเร็ว อินซูลิน (Insulin) จะมาควบคุมไม่ให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูง เมื่ออินซูลินมากดนานเข้า ก็จะทำให้น้ำตาลเราต่ำ เมื่อน้ำตาลต่ำ เราก็จะหิวเร็ว ดังนั้นย้ำนะครับ ว่าอาหารเช้าไม่ควรขาดเลย แต่ควรจะงดแป้งและน้ำตาล

กฎข้อที่สองคือ อาหารเช้ามื้อนั้นๆ ไม่ควรจะรสจัดเกินไป เพราะในตอนเช้ายังไม่มีน้ำย่อยเยอะ และกระเพาะอาหารยังไม่ขยับเต็มที่ หากเราทานอาหารที่มีความมัน หรือเผ็ดเกินไป มันจะทำให้เกิดข้อเสียมากกว่า ดังนั้นในมื้อเช้าจึงไม่ควรจะทานอาหารที่มันและเผ็ดเกินไป” คุณหมอกฤษดา อธิบายถึงหลักการรับประทานอาหารมื้อเช้าที่ดีต่อสุขภาพ

อันดับ1 ต้มเลือดหมู 
เมนูอันดับหนึ่ง คุณหมอผู้ผู้เชี่ยวชาญด้าน Ani-Aging ยกนิ้วให้เป็นเมนูเพื่อสุขภาพสุดๆ ทว่าจะให้ทานแล้วดีต่อร่างกายอย่างแท้จริง...ก็ต้องมีเทคนิคในการทาน

“ต้มเลือดหมูเป็นอาหารที่เรียกได้ว่าเป็น perfect combination หรือเป็นคู่ที่สมกันมากเลย เพราะในเลือดหมูมีธาตุเหล็ก และในผัก เช่น ใบตำลึง จะมีวิตามินซีเยอะ ธาตุเหล็กต้องมีวิตามินซี มันถึงจะดูดซึมได้ดี เช่นเดียวกับที่วิตามินซี ก็ต้องมีธาตุเหล็กมันถึงจะดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้ดี ฉะนั้นมันเป็นคู่ที่เพอร์เฟคเลย
แต่สิ่งที่ควรระวังคือ หากใครเป็นเก๊าท์ ต้องระวังหน่อย เพราะน้ำซุปต้มเลือดหมูทำจากน้ำต้มกระดูก ซึ่งมีกรดยูริค (Uric Acid) เยอะ ส่วนเครื่องในก็มีกรดยูริคสูงเหมือนกัน อันนี้อาจต้องระวังสักนิด

อันดับ2 ขนมปัง + ไข่ดาว 
สำหรับอับดับสองเป็นเมนูอาหารเช้าทำง่าย...ทานง่าย อย่าง ขนมปัง-ไข่ดาว ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ยกให้เป็นอาหารเช้าเปี่ยมประโยชน์ที่เหมาะนักสำหรับหนุ่มสาววัยทำงาน และน้องๆ วัยเรียน จะต้องเป็นขนมปังโฮลวีท (whole wheat) และไข่ดาวน้ำ หรือไข่ต้ม (ที่ไร้น้ำมัน) หรือไข่ต้มอย่างเดียวอาจไม่อิ่ม การทานคู่กับขนมปังโฮลวีท ก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะขนมปังโฮลวีท เป็นแป้งที่มีคุณภาพ

อันดับ3 ขนมครก + กาแฟ 
“ขนมครกนั้น จะมีปัญหาตรงที่มันมีแป้ง ถ้าเจ้าไหนใส่แป้งเยอะ ก็ไม่ต่างจากปาท่องโก๋เท่าไหร่ ดีกว่านิดหน่อยตรงที่มันใช้การปิ้ง เป็นการทำให้สุกด้วยความร้อนแทนการทอด แต่ข้อดีของมันคือ มีกะทิ ซึ่งกะทิเป็นไขมันดี ยิ่งทานขนมครก กับชา หรือกาแฟ ก็ถือว่าเหมาะสม เพราะในกาแฟจะมีคาเฟอีน (Caffeine) เยอะ ซึ่งถ้าเราได้ อาหารอย่างขนมครกเข้าไปรองท้องก็จะดี เพราะร่างกายจะได้ไม่ต้องดูดซึมคาเฟอีนเข้าไปแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

อันดับ4 โจ๊กหมู 
“ตัวโจ๊กหมู จะมีปลายข้าว รำข้าว ถ้าเยอะไปก็ทำให้หิวเร็วได้เช่นกัน เพราะมันคือ แป้งที่ทำให้เราหิวเร็วได้ ส่วนสิ่งที่ควรจะทานคู่กับโจ๊กหมูคือ ขิง และต้นหอม เพราะขิงจะช่วยระบบเผาผลาญในร่างกาย และทำให้ไม่รู้สึกเลี่ยน ต้นหอม ช่วยในเรื่องลดไขมัน และควบคุมน้ำตาล

อันดับ5 ข้าวเหนียว+ หมูปิ้ง 
เมนูอับดับห้านี้ คุณหมอเตือนมานิดว่า แม้จะอร่อย ทานง่าย แถมพกพาสะดวก ทว่าก็ต้องระมัดระวังเลือกร้านที่ไว้ใจได้ และเลี่ยงทานส่วนที่ “มัน” “ในเรื่องของพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหาร เราอาจได้รับแคลอรี่ (Calorie) เยอะอยู่ แต่ถ้าเทียบกับโจ๊กแล้ว ข้าวเหนียวหมูปิ้งก็เป็นตัวที่สลับกันทานกับโจ๊กได้ เพราะอย่างน้อยในข้าวเหนียว ก็จะมีกลูเตน (Gluten) หรือไฟเบอร์เยอะกว่าข้าวขัด จะดีขึ้นมาระดับหนึ่ง และถ้ายิ่งได้ทานหมูปิ้งกับข้าวเหนียวดำ มันก็จะมี โอพีซี (OPC) สารสีม่วงซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อยู่ในข้าวเหนียวดำด้วย

อันดับหก น้ำเต้าหู้ + ปาท่องโก๋
สำหรับเมนูสุดท้ายอย่าง น้ำเต้าหู้ และปาท่องโก๋นี้ คุณหมอหนุ่มระบุว่า ปาท่องโก๋นั้น ถือเป็นอาหารที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้คุณอ้วนได้ง่าย เพราะทานแล้วหิวเร็ว ส่วนน้ำเต้าหู้นั้น ถือเป็น “อาหารล้างบาป” ให้กับปาท่องโก๋ที่คุณทานเข้าไป อีกสิ่งที่ต้องระวังจากตัวปาท่องโก๋คือ มันอาจจะมีสารตัวหนึ่งที่ก่อมะเร็งได้ นั่นคือกลุ่มของอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ตัวนี้จะเกิดในพวกของทอด อาหารที่ต้องทอดด้วยน้ำมันชุ่มๆ และอาหารทอดซ้ำ 
ที่มา : คัดลอกบางส่วนจาก oknation.net

loading...